ข่าวเด่น

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.อ. จับมือหน่วยวิจัย 3E มช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร



คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.อ. จับมือหน่วยวิจัย 3E  มช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.สงขลานครินทร์) ร่วมกับ หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการประเมินและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม



เมื่อวันที่ 30 – 31 มกราคม 2568 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับ หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3E) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ณ ห้องประชุมธราดล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพงศ์ เพียรโรจน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3E) ได้แก่ ดร. เอกพร นวภานันท์ และคุณธารารัตน์ อ่วมศรี ร่วมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม

การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาการอบรมครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ได้แก่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร แนวทางการประเมินและการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (ข้อกำหนดของ อบก.) และการใช้ CFO Platform


ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับความรู้และทักษะในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรอย่างเป็นระบบ รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนและดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.สงขลานครินทร์ ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน




30 ม.ค. 2568